โครงการ Project
โครงการ “Whisper of Ovary” มะเร็งรังไข่เป็นภัยเงียบ ควรใส่ใจตรวจภายในทุกปี
มะเร็งรังไข่ (Ovarian cancer) ภัยเงียบที่สตรีต้องระวัง
กระซิบบอกต่อคนสำคัญ สร้างเกราะป้องกันให้พ้นภัย
ทราบหรือไม่ว่ามะเร็งรังไข่
- ข้อมูลทั่วโลก พบมากเป็นอันดับ 2 ของมะเร็งนรีเวช รองจากมะเร็งเต้านม แต่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับ 1 ในบรรดามะเร็งนรีเวช
- ข้อมูลในไทย พบมากเป็นอันดับ 3 ของมะเร็งนรีเวช รองจากมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูก ในแต่ละปีพบผู้ป่วยมะเร็งรังไข่รายใหม่ประมาณ 2,700 ราย และมีผู้ป่วยถึงร้อยละ 53 เสียชีวิตจากมะเร็งรังไข่หรือประมาณ 1,430 ราย (อันดับ 2 รองจากมะเร็งปากมดลูก)
- ถ้าตรวจพบมะเร็งรังไข่ตั้งแต่ระยะที่ 1 จะมีอัตราการหายจากโรคถึงร้อยละ 90
- ประมาณร้อยละ 70 ของผู้ป่วย ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งรังไข่ระยะที่ 3-4 ตั้งแต่เริ่มวินิจฉัยโรค
- การตรวจพบว่ามีความผิดปกติของยีนบางชนิดในร่างกาย เช่น BRCA เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งรังไข่ ผู้หญิงที่มีความผิดปกติหรือการกลายพันธุ์ของยีน BRCA1 และ BRCA2 จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งรังไข่สูงถึง 35-70% และ 10-30% ตามลำดับในขณะที่บุคคลทั่วไปมีความเสี่ยงเพียง 1-2%
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งรังไข่
- สตรีวัยกลางคน วัยหมดประจำเดือน หรือสูงอายุ
- สตรีที่ไม่มีบุตร หรือเป็นผู้มีบุตรยาก
- ภาวะอ้วน
- มีประวัติครอบครัวและญาติใกล้ชิดเป็นมะเร็งรังไข่ มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ หรือทางเดินอาหาร
- มีความผิดปกติของยีน โดยเฉพาะ BRCA1 / BRCA2 mutations
- เคยป่วยเป็นมะเร็งเต้านม มดลูก หรือมะเร็งลำไส้ใหญ่มาก่อน
- มีภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
- สัมผัสสารเคมีต่างๆ เป็นประจำ เช่น แร่ใยหิน การใช้แป้งฝุ่นทาบริเวณอวัยวะเพศ
ความเสี่ยงของโรคมะเร็งรังไข่เกิดจากหลายๆ ปัจจัย อาทิ ปัจจัยด้านอายุ สภาพแวดล้อม ไลฟ์สไตล์รวมถึงประวัติของครอบครัวผู้หญิงที่มีความผิดปกติของยีนกลุ่มหนึ่งจะมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งรังไข่สูงกว่าผู้หญิงทั่วไป ผลการวิจัยพบว่าความผิดปกติของยีน BRCA มีความสัมพันธ์กับโอกาสของการเกิดมะเร็งรังไข่
โดยปกติแล้วทั่วโลกจะมีผู้หญิงประมาณ 1-2% ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งรังไข่โดยในจำนวนนี้เป็นผู้หญิงที่มีความผิดปกติของยีนBRCA1 ถึง35-37% และผู้หญิงที่มีความผิดปกติของยีน BRCA2 อีก10-30% ผลวิจัยยังบ่งชี้ว่าโรคมะเร็งรังไข่มีความเชื่อมโยงกับการกลายพันธุ์ของยีน BRCAประมาณ15% และโอกาสของการเกิดมะเร็งรังไข่ชนิดเยื่อบุผิว(serous ovarian cancer) เป็นผลมาจากความผิดปกติของยีน BRCA1และ BRCA2 ประมาณ 16-21%
มะเร็งรังไข่ยังสามารถพบได้บ่อยในผู้หญิงที่ไม่มีลูกหรือมีลูกยาก ในขณะที่ผู้หญิงที่มีลูกหลายคนหรือรับประทานยาคุมกำเนิดที่ยับยั้งการตกไข่จะมีความเสี่ยงลดลงนอกจากนี้มะเร็งรังไข่ยังพบได้ในผู้หญิงที่เป็นโรคอ้วนและดื่มสุราในปริมาณมากและความเสี่ยงจะลดลงในผู้หญิงที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ทำหมัน หรือผ่าตัดมดลูกออกแล้ว
สัญญาณและอาการ
- ท้องอืด ท้องเฟ้อ
- ปวดในอุ้งเชิงกราน หรือปวดท้อง
- แน่นท้อง รู้สึกอิ่มเร็วขึ้นหลังรับประทานอาหาร
- ท้องผูกเรื้อรัง
- ปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่อยู่หรือลำบาก
- ท้องโตขึ้น คลำได้ก้อนในช่องท้อง
การป้องกันโรคมะเร็งรังไข่
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการตรวจคัดกรองที่สามารถตรวจจับมะเร็งรังไข่ได้ตั้งแต่ยังไม่แสดงอาการ ผู้หญิงทุกคนจึงควรตรวจภายในและพบสูตินรีแพทย์เป็นประจำทุกปี เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งรังไข่ โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวหรือญาติใกล้ชิดเป็นมะเร็งรังไข่ตั้งแต่อายุยังน้อย
การตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งรังไข่
- ตรวจภายในหรือทางทวารหนัก ตรวจหารอยโรคก่อนมะเร็งตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม เช่น หากพบว่ามีก้อนในอุ้งเชิงกรานหรือบริเวณปีกมดลูก ซึ่งจะช่วยให้แพทย์ควบคุมความเสี่ยงของคุณในการเป็นมะเร็ง และวางแผนการรักษาตั้งแต่ระยะแรก ซึ่งจะช่วยชีวิตคุณได้ดีที่สุด
- ตรวจอัลตราซาวน์ (Ultrasound) มีประโยชน์ในการวินิจฉัยมะเร็งรังไข่ในระยะแรก และมีความไวในการตรวจพบก้อน
- ตรวจเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็ง (Tumor marker) ได้แก่ CA-125 และ HE4 ร่วมกับ ultrasound เพื่อเพิ่มความแม่นยำ แต่มีความไวของการตรวจยังไม่มากพอที่จะใช้เป็นวิธีการตรวจคัดกรองในปัจจุบัน
- ตรวจด้วยรังสีวินิจฉัย เช่น CT หรือ MRI ช่วยในการวินิจฉัยและดูการแพร่กระจายของโรค เพื่อวางแผนการรักษา
การรักษาโรคมะเร็งรังไข่
แพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษามะเร็งรังไข่จากระยะของมะเร็งและความต้องการมีลูกของผู้ป่วยถ้าผู้ป่วยมีอายุน้อยและเป็นมะเร็งรังไข่ระยะเริ่มแรกข้างเดียวสามารถรักษาได้โดยการตัดรังไข่ออกข้างเดียวร่วมกับการผ่าตัดเพื่อตรวจการแพร่กระจายของมะเร็งในช่องท้องและอาจพิจารณาให้ยาเคมีบำบัดร่วมด้วยในบางกรณีแต่ถ้าผู้ป่วยเป็นมะเร็งรังไข่ระยะลุกลามแล้วต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด
เกี่ยวกับยีน BRCA
BRCA เป็นชื่อเรียกกลุ่มยีนที่ทำหน้าที่ระงับการเจริญของเซลล์มะเร็ง (tumor suppressors gene)โดยในเซลล์ปกติBRCAจะทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพของสารพันธุกรรม (DNA) และป้องกันการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเซลล์ แต่ในเซลล์ที่มีการกลายพันธุ์ของBRCA จะไม่สามารถซ่อมแซมดีเอ็นเอได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อดีเอ็นเอที่เสียหายไม่ได้รับการซ่อมแซมให้กลับสู่ปกติ ทำให้เกิดโอกาสที่เซลล์มะเร็งจะเจริญเติบโตตามมา
จากการวิจัยพบว่ายีน BRCA1 และ BRCA2 มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ในกลุ่มประชากรวัยก่อน 50 ปี การกลายพันธุ์ของยีน BRCAยังสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมและเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งตลอดช่วงชีวิตของผู้ที่ได้รับสืบทอดยีนผิดปกตินี้
- การกลายพันธุ์ของยีน BRCAเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งรังไข่ โดยปกติทั่วโลกจะมีผู้หญิงประมาณ 1-2% ที่มีโอกาสเป็นมะเร็งรังไข่ ในขณะที่ประมาณ 35-37% ของผู้หญิงที่มีความผิดปกติของยีน BRCA1 และ 10-30% ของผู้หญิงที่มีความผิดปกติของยีน BRCA2จะมีโอกาสเป็นมะเร็งรังไข่ก่อนอายุ 70 ปี ผลกระวิจัยยังพบว่าประมาณ 15% ของการเกิดมะเร็งรังไข่ รวมถึง 16-21% ของการเกิดมะเร็งรังไข่ชนิดเยื่อบุผิว (serous ovarian cancer) มีความเชื่อมโยงกับการกลายพันธุ์ของ BRCA1 และ BRCA2
- ในการศึกษาความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งรังไข่ในกลุ่มผู้หญิงที่มีอายุต่ำกว่า 70 ปี พบว่าผู้หญิงที่มีการกลายพันธุ์ของยีน BRCA มีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งรังไข่สูงถึง 45-65% ในขณะที่ผู้หญิงทั่วไปที่ไม่พบความผิดปกติของยีนนี้มีความเสี่ยงเพียง 12%
- ผู้ชายที่สืบถอดความผิดปกติของยีน BRCA มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมและมะเร็งต่อมลูกหมากสูงกว่าผู้ชายทั่วไป
- ทั้งผู้หญิงและผู้ชายที่มีการกลายพันธุ์ของยีนชนิดนี้ยังมีความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งชนิดอื่นๆ รวมถึงมะเร็งตับอ่อน
เนื่องจากการกลายพันธุ์ของยีน BRCA เป็นการถ่ายทอดทางพันธุกรรมแบบลักษณะเด่น (autosomal dominant) การได้รับการถ่ายทอดความผิดปกติจากพ่อหรือแม่เพียงฝ่ายเดียวก็ทำให้โอกาสของการเกิดมะเร็งเพิ่มขึ้นแล้ว ลูกที่เกิดจากพ่อหรือแม่ที่มีการกลายพันธุ์ของยีน BRCA มีโอกาสได้สืบทอดยีนผิดปกตินี้สูงถึง 50%
มะเร็งรังไข่ และ BRCA
มะเร็งรังไข่ถือเป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตผู้หญิงไทยจำนวนมาก โดยเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดเป็นอันดับ 5 และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับ 1 ในบรรดามะเร็งนรีเวชในต่างประเทศ โดยทั่วไปแล้วมะเร็งรังไข่จะไม่แสดงอาการใดๆ และผู้ป่วยจำนวนมากกว่าครึ่งกว่าจะรู้ตัวว่าเป็นมะเร็งรังไข่ก็เมื่อมะเร็งได้ลุกลามแพร่กระจายแล้ว จึงทำให้โอกาสในการรักษาให้หายขาดลดน้อยลง นอกจากนี้ ผู้ป่วยมะเร็งรังไข่จำนวนมากยังมีความเสี่ยงที่จะกลับมาเป็นมะเร็งได้อีกทั้งๆ ที่ได้รับการรักษาแล้ว
ผู้หญิงที่สืบทอดความผิดปกติของยีน BRCAจะมีความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งรังไข่สูงกว่าผู้หญิงทั่วไปการกลายพันธุ์ของยีน BRCA มีโอกาสนำไปสู่มะเร็งรังไข่เพิ่มขึ้น15%
BRCA และการรักษามะเร็งรังไข่ |
การรักษามะเร็งรังไข่ในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของยีน BRCA สามารถใช้วิธีการเดียวกับผู้ป่วยมะเร็งอื่นๆ คือ รักษาด้วยยาเคมีบำบัด อย่างไรก็ตามด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์ มะเร็งรังไข่ที่มีความผิดปกติของยีน BRCAสามารถรักษาด้วยวิธีการแบบมุ่งเป้า (targeted therapy)โดยใช้ยากลุ่ม PARP inhibitor ที่ออกฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการซ่อมแซมดีเอนเอของเซลล์มะเร็ง โดยในประเทศไทย ก็มียาในกลุ่มนี้ที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งรังไข่เยื่อบุผิวขั้นลุกลามที่มีสาเหตุมาจากการกลายพันธุ์ของยีน BRCAแล้ว
BRCA และการตรวจสอบทางพันธุกรรม |
จากหลักฐานความผิดปกติของยีนที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ผลการศึกษาความเสี่ยงที่การกลายพันธุ์ของยีน BRCA มีต่อการเกิดมะเร็งรังไข่ รวมถึงความก้าวหน้าและแม่นยำในการพยากรณ์และวินิจฉัยโรค ทำให้รัฐบาลหลายๆ ประเทศ กำหนดแนวทางปฏิบัติที่แนะนำให้มีการตรวจหาความผิดปกติของยีน BRCA ในผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ รวมถึงการตรวจทางพันธุกรรมในผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งรังไข่ ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่ตรวจพบความผิดปกติของยีน BRCA จะมีโอกาสที่บุคคลในครอบครัวและญาติใกล้ชิดมีความเสี่ยงที่จะตรวจพบความผิดปกติของยีนเช่นเดียวกัน การค้นพบความผิดปกติของยีนชนิดนี้ตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้สามารถเฝ้าระวังตรวจพบโรคได้เร็ว และสามารถรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ผู้สนใจข้อมูลเพิ่มเติมและต้องการเข้ารับการตรวจความผิดปกติของยีน BRCA โปรดปรึกษาแพทย์
“สานต่อที่พ่อให้ทำ” เพื่อผู้ป่วยมะเร็งด้อยโอกาส “เพิ่ม” โอกาสการเข้าถึง “การรักษา” เพื่อคนไทยทุกคน
- ธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่บัญชี 407-985846-8
- ธนาคารกรุงเทพ เลขที่บัญชี 229-4152-588
- บริจาคผ่านทาง App truemoney wallet
ดาวน์โหลด Brochure