โครงการ Project

Say kNOw HPV ก้าวที่คุณเลือกได้ Say kNOw HPV ก้าวที่คุณเลือกได้

 

มะเร็งปากมดลูก

เกิดจากไวรัสไม่ใช่กรรมพันธุ์เป็นหนึ่งในมะเร็งเพียงไม่กี่ชนิดที่สามารถป้องกันได้

 

รู้หรือไม่ว่าในทุกๆวัน มีผู้หญิงไทยเสียชีวิตจาก มะเร็งปากมดลูกวันละ 14 คน ซึ่งสาเหตุหลักของมะเร็งปากมดลูกเป็นโรคที่ไม่ได้เกิดจากพันธุกรรม แต่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่เรียกว่า HPV หรือ Human Papilloma Virus ซึ่งติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือการสัมผัสใกล้ชิด ซึ่งการติดเชื้อเอชพีวีเป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้มากที่สุดถึง 70% และมีโอกาสพัฒนาเป็นมะเร็งปากมดลูกได้มากกว่าคนที่ไม่ติดเชื้อ HPV ถึง 35 เท่า

 

เชื้อเอชพีวี เป็นไวรัสที่ก่อโรคบริเวณอวัยวะเพศและทวารหนัก เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งทวารหนัก รวมถึงมะเร็งช่องปากและลำคอ และหูดหงอนไก่ ซึ่งเชื้อเอชพีวีที่ก่อโรคมีประมาณ 40 สายพันธุ์ แต่มีเพียงไม่กี่สายพันธุ์ที่ก่อโรคบ่อย

 

รหัสสายพันธุ์ของเชื้อเอชพีวีที่ก่อโรค

  • HPV 6, 11 สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงต่ำทำให้เกิดหูด
  • HPV 16, 18 สายพันธุ์ที่มีความรุนแรงมาก
  • HPV 16, 18, 31, 33, 45, 52, 58 เป็น 7 สายพันธุ์ที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกที่พบบ่อย
  • HPV 16, 51, 52 เป็นสายพันธุ์ที่พบบ่อยในสตรีไทย* ซึ่งในทางตะวันตกจะพบสายพันธุ์ 16, 18 มากกว่า

 

*ข้อมูลจากการวิจัยของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ในกลุ่มตัวอย่างที่ตรวจคัดกรองด้วยเอชพีวีดีเอ็นเอ ประมาณ 10,000 ราย พบการติดเชื้อไวรัส HPV ความเสี่ยงสูง ร้อยละ 6.0 และสายพันธุ์ที่พบบ่อย คือ 16, 51, 52

 


เชื้อเอชพีวี ก่อโรคมะเร็งได้ทั้งใน หญิง และ ชาย

  • มะเร็งปากมดลูก
  • มะเร็งช่องคลอด
  • มะเร็งปากช่องคลอด
  • มะเร็งช่องปากและลำคอ
  • มะเร็งทวารหนัก

  • มะเร็งองคชาต
  • มะเร็งช่องปากและหลอดคอ
  • มะเร็งทวารหนัก

เราติดเชื้อ HPV จากที่ไหนบ้าง

การติดเชื้อ HPV ที่พบบ่อย คือ การสัมผัสทางผิวหนัง เพราะฉะนั้น เพศสัมพันธ์จึงเป็นสาเหตุสำคัญทำให้ติดเชื้อ HPV บริเวณปากมดลูก และอวัยวะเพศส่วนอื่นๆ เช่น ทวารหนัก รวมถึงช่องปากและลำคอ อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อ HPV เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่าย และเป็นเรื่องธรรมดาสามัญซึ่ง 80% ของผู้หญิงเคยมีเชื้อ หรือกำลังมีเชื้อ HPV อยู่ในร่างกายโดยไม่รู้ตัว ถ้าร่างกายแข็งแรงเชื้อ HPV จะถูกกำจัดออกไปได้เอง แต่ถ้าร่างกายอ่อนแอการติดเชื้อดังกล่าวอาจพัฒนากลายไปเป็นเซลล์มะเร็งได้

 

หยุดยั้งไวรัสเอชพีวีป้องกันมะเร็งปากมดลูกด้วยการตรวจคัดกรองและฉีดวัคซีนป้องกัน

มะเร็งปากมดลูก เป็นหนึ่งในมะเร็งเพียงไม่กี่ชนิดที่สามารถ ป้องกันได้

โรคมะเร็งปากมดลูก จะไม่แสดงอาการจนกว่าโรคจะพัฒนาจนร้ายแรง แต่หากตรวจพบและป้องกันเชื้อเอชพีวีได้เร็วก่อนที่จะพัฒนารอยโรคไปเป็นมะเร็งปากมดลูก ก็จะมีโอกาสรักษาหายสูงถึงร้อยละ 98

ดังนั้น เมื่อเรารู้จัก Say Know และป้องกัน Say No ไวรัส HPV ได้ ก็เท่ากับป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้

 

การคัดกรองมะเร็งปากมดลูกแนวใหม่

ปัจจุบันมีการตรวจหาดีเอ็นเอของเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV DNA) ที่สามารถระบุได้ว่าเป็นการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ไหนได้ถึง 14 สายพันธุ์ ได้แก่ 16, 18, 31, 33, 35, 39, 45, 51, 52, 56, 58, 59, 66, 68 โดยมีสายพันธุ์ 16 และ 18 ที่มีความรุนแรงสูง และสายพันธุ์ที่พบบ่อยในประเทศไทย คือ 16, 51, 52 ที่จะพัฒนารอยโรคก่อนเป็นมะเร็งปากมดลูกรวมอยู่ด้วย การคัดกรองจะช่วยบอกให้แพทย์ทราบว่าเราเสี่ยงเป็นมะเร็งปากมดลูกหรือไม่ เนื่องจากการติดเชื้อ HPV มักไม่แสดงอาการ การตรวจหารอยโรคก่อนมะเร็งแต่เนิ่นๆจะช่วยให้แพทย์ควบคุมความเสี่ยงของคุณในการเป็นมะเร็งปากมดลูก และตัดสินใจเลือกวิธีรักษาโดยมีข้อมูลที่ถูกต้อง การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกโดยวิธีแพปสเมียร์ (Pap Smear) แบบเดิมจะเป็นการตรวจพบการเปลี่ยนแปลงในเซลล์ปากมดลูกแล้วซึ่งอาจใช้เวลานานถึง 10 ปี ถึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น และบางครั้งกว่าจะตรวจพบก็เข้าสู่มะเร็งระยะสุดท้ายแล้ว ดังนั้น แนะนำให้สตรีในช่วงอายุ 25 ปีขึ้นไปที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกโดยตรวจหาเชื้อไวรัสเอชพีวีและ/หรือตรวจแพปสเมียร์ร่วมด้วย ในกรณีที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์แนะนำให้ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่อายุ 30 ปี อย่างไรก็ตามแนะนำตรวจภายในเป็นประจำทุกปี เพี่อหาความผิดปกติทางนรีเวชอื่นๆที่อาจเกิดร่วมด้วย


การรับวัคซีนป้องกันไวรัสเอชพีวีสร้างเกราะป้องกัน พร้อมลดพฤติกรรมเสี่ยง

ปัจจุบันมีวัคซีนที่ป้องกันการติดเชื้อ HPV ซึ่งมีการใช้อย่างแพร่หลายในต่างประเทศทั่วโลก และในปี 2564 ประเทศไทยมีนวัตกรรมใหม่ล่าสุด กับ วัคซีนป้องกันไวรัสเอชพีวี ชนิด 9 สายพันธุ์ จากเดิมมีวัคซีนป้องกัน 4 สายพันธุ์ คือ 6, 11, 16, 18

เพิ่มการป้องกันมาอีก 5 สายพันธุ์ คือ 31, 33, 45, 52, 58 ช่วยเพิ่มอัตราการป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้มากขึ้นถึง 90%

 

คำแนะนำการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อเอชพีวี

  • สามารถฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่อายุ 9-45 ปี ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย
  • เด็กช่วงอายุ 9-15 ปี รับวัคซีน 2 เข็ม ในเดือนที่ 0 และ 6 ซึ่งเป็นวัยที่เหมาะสมที่สุดในการป้องกัน เนื่องจากกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงและยังไม่มีเพศสัมพันธ์
  • อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป รับวัคซีน 3 เข็ม ในเดือนที่ 0, 1-2 และ 6
  • ผู้ที่เคยติดเชื้อ HPV หรือมีเซลล์ปากมดลูกผิดปกติแล้ว สามารถรับวัคซีนได้แต่อาจได้รับประโยชน์น้อยลง อย่างไรก็ตาม สามารถลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำได้ ร้อยละ 70-80
  • สำหรับผู้หญิงที่อายุเกิน 45 ปี ไม่มีข้อมูลของวัคซีน ถ้าต้องการฉีดแนะนำปรึกษาแพทย์เพื่อให้คำแนะนำก่อนรับวัคซีน