ศูนย์การรักษา ศูนย์การรักษา

ภาพวินิจฉัยและรังสีร่วมรักษา ภาพวินิจฉัยและรังสีร่วมรักษา

ศูนย์ภาพวินิจฉัยและรังสีร่วมรักษา

ประกอบด้วยงานรังสีวินิจฉัย (Diagnostic Radiology) และงานรังสีร่วมรักษา (Intervention Radiology)
 

งานรังสีวินิจฉัย

ให้บริการตรวจวินิจฉัยโรคโดยอาศัยเครื่องมือทางรังสีที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูงหลายชนิด ได้แก่ เอ็มอาร์ไอ (Magmatic Resonance Imaging - MRI) เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed Tomography - CT) เอกซเรย์เต้านม (Mammography) คลื่นเสียงความถี่สูง (Ultrasound) และการตรวจพิเศษด้วยเครื่องฟลูออโรสโคป (Fluoroscopy) ซึ่งในการสร้างภาพทางรังสีวินิจฉัยในแต่ละการตรวจจะใช้เครื่องมือที่มีความจำเพาะ ขึ้นกับลักษณะอาการ และวัตถุประสงค์ของการตรวจ และลักษณะทางกายวิภาคของอวัยวะที่ต้องการตรวจ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้รับบริการได้รับการตรวจวินิจฉัยโรคได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ ปลอดภัย มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล
 

งานรังสีร่วมรักษา

ให้บริการด้านรังสีร่วมรักษา สำหรับการทำหัตถการต่างๆ จะมีการใช้เครื่องมือทางรังสีร่วมในการตรวจรักษาด้วย เพื่อให้การตรวจรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถเห็นรอยโรคที่ต้องการตรวจรักษาได้อย่างชัดเจน มีการใช้เครื่องมือต่างๆ เช่น  เครื่องอัลตร้าซาวด์ เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เครื่องฟลูออโรสโคป และเอ็มอาร์ไอ มาใช้เพื่อการนำทางเพื่อเจาะหรือดูดเซลล์เพื่อการตรวจทางเซลล์วิทยา และ/หรือ การตัดชิ้นเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา ปัจจุบันหน่วยงานให้บริการการตรวจเอกซเรย์หลอดเลือด (Angiography and Venography) เพื่อตรวจหาความผิดปกติต่างๆ และเพื่อการตรวจรักษามะเร็ง เช่น การตรวจ Transarterial chemoembolization (TACE), Percutaneous Transhepatic Biliary Drainage (PTBD), Percutaneous Drainage (PCD), Percutaneous nephrostomy (PCN), RadioFrequency Ablation (RFA), Ultrasound/CT Guided Biopsy เป็นต้น 
ข้อมูลภาพจากการตรวจวินิจฉัย และผลการตรวจทั้งหมดถูกรวบรวมไว้ในระบบสารสนเทศของโรงพยาบาล (PACS) ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ในการจัดเก็บรูปภาพทางการแพทย์ (Medical Images) มีระบบจัดการรับส่งข้อมูล ผ่านทางระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ โดยข้อมูลภาพจะส่งมาจากเครื่องมือต่างๆ เข้าสู่ระบบสำรองข้อมูล (Storage Server) ตามมาตรฐาน DICOM และสามารถเปิดดูภาพการตรวจรักษาด้วยเครื่องมือต่างๆ ได้หลายจุดพร้อมกัน ทั้งภายในโรงพยาบาลและนอกโรงพยาบาล ทำให้แพทย์ที่ทำการตรวจรักษาผู้ป่วยสามารถนำข้อมูลภาพ และผลการตรวจวินิจฉัยไปวางแผนการรักษาได้อย่างทันท่วงที 
 

การให้บริการของหน่วยงาน

  1. การตรวจเอกซเรย์ทั่วไป (Digital Radiography)
  2. การตรวจเอกซเรย์เคลื่อนที่ (Digital Mobile Radiography)
  3. การตรวจฟลูออโรสโคปี (Digital Fluoroscopy)
  4. การตรวจอัลตร้าซาวด์ (Ultrasound)
  5. การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed Tomography)
  6. การตรวจเอ็มอาร์ไอ (Magnetic Resonance Imaging)
  7. การตรวจเอกซเรย์หลอดเลือด (Digital Subtraction Angiography)
  8. การตรวจความยืดหยุ่นของตับ (Fibro Scan)
  9. การตรวจเอกซเรย์เต้านม (Digital Mammogram)
 

คำแนะนำก่อนเข้ารับการตรวจพิเศษต่างๆ

 

1. เครื่องเอกซเรย์ทั่วไป ระบบดิจิทัล (Digital Radiography) 

เครื่องเอกซเรย์ถ่ายภาพรังสีทั่วไประบบดิจิทัล สามารถเอกซเรย์ได้ทุกส่วนของร่างกาย เช่น สมอง กระโหลกศีรษะ ทรวงอก ช่องท้อง สะโพก กระดูกรยางค์ส่วนบนและส่วนล่าง ภาพถ่ายเอกซเรย์จะเป็นภาพดิจิทัล ที่มีความละเอียดสูง สามารถปรับความขาวความดำ ความคมชัด และขยายภาพ เพื่อหารอยโรคได้ตามต้องการ ทำให้แพทย์ที่ทำการตรวจรักษาได้อย่าง ถูกต้อง รวดเร็ว แม่นยำ การสร้างภาพดิจิทัลจะใช้เทคโนโลยีการแปลงสัญญาณภาพของ Flat Panel Detector ที่ให้รายละเอียดของภาพสูง ร่วมกับระบบควบคุมปริมาณรังสี แบบอัตโนมัติ (Automatic exposure control; AEC) เพื่อให้การเอกซเรย์ผู้ป่วยเป็นไปอย่างปลอดภัย ผู้ป่วยได้รับปริมาณรังสีที่เหมาะสมคุณภาพของภาพเหมาะสมสำหรับการวินิจฉัยโรคต่อไป
 

2. เครื่องฟลูออโรสโคป ระบบดิจิทัล (Digital Fluoroscopy) 

เป็นเครื่องเอกซเรย์สำหรับการตรวจพิเศษทางรังสี เป็นการถ่ายภาพเอกซเรย์ร่วมกับการใช้สารทึบรังสี โดยใช้ระบบควบคุมการทำงานจากระยะไกล (Remote control) จากห้องควบคุม โดยสามารถแสดงภาพการตรวจในระบบดิจิทัล ที่มีความละเอียดสูง เห็นภาพการตรวจทันทีระหว่างการตรวจแบบ Real Time สามารถบันทึกเป็นภาพนิ่งและเป็นภาพเคลื่อนไหวได้ ทำให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ ปัจจุบันใช้เครื่องมือดังกล่าวใช้ในการตรวจพิเศษต่างๆ เช่น การตรวจหลอดอาหาร (Esophagogram) การตรวจกระเพาะอาหาร (Upper GI Study) การตรวจลำไส้เล็ก (GI Follow Through) การตรวจลำไส้ใหญ่ (Barium Enema) การตรวจระบบทางเดินปัสสาวะ (Voiding cystourethrogram - VCUG) เป็นต้น
 

3. เครื่องตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง (Ultrasound)

เป็นการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงในการตรวจโดยอาศัยหลักการดูดซับ และสะท้อนของคลื่นเสียงที่แตกต่างกัน ระหว่างอวัยวะแต่ละชนิด และระหว่างเนื้อเยื่อชนิดต่าง ๆ และสะท้อนกลับมายังหัวตรวจ และข้อมูลที่ได้ไปสร้างภาพดิจิทัล การตรวจด้วยเครื่องมือดังกล่าวสามารถเห็นภาพได้ แบบ Real Time และมีความปลอดภัยสูงเนื่องจากเป็นเครื่องมือที่ไม่มีการใช้รังสี ปัจจุบันเครื่องมือดังกล่าวจะใช้สำหรับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง การตรวจสุขภาพ และการตรวจติดตามโรคหลังการรักษา เช่น การตรวจคัดกรองมะเร็ง การตรวจต่อมไทรอยด์ การตรวจช่องท้องส่วนบน การตรวจช่องท้องส่วนล่าง การตรวจช่องท้องทั้งหมด การตรวจเต้านม และการตรวจระบบหลอดเลือดต่างๆ เป็นต้น 

4. เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed Tomography) 

เป็นเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพใช้เทคโนโลยีชั้นสูง โดยมีแหล่งกำเนิดเอกซเรย์เพื่อใช้ในการถ่ายภาพ คือ หลอดเอกซเรย์ 2 หลอด (Dual Source) และมีชุดรับรังสีเพื่อการสร้างภาพ (Detector) 2 ชุด โดยอุปกรณ์ต่างๆ จะหมุนรอบตัวผู้ป่วยขณะทำการตรวจ สามารถเลือกใช้สองหลอดพร้อมกันหรือเลือกใช้เพียงหลอดเดียวได้ ขึ้นกับโปรโตคอลและเทคนิคในการตรวจ การตรวจดังกล่าวเป็นการตรวจพิเศษทางรังสีที่มีความละเอียดสูง ได้ภาพในแนวตัดขวางสามารถเห็นรายละเอียดภายในร่างกายได้อย่างชัดเจน สามารถนำภาพที่ได้ในแนวตัดขวางมาสร้างภาพในแนวต่างๆ ได้ตามต้องการ ปัจจุบันการตรวจด้วยเครื่องมือดังกล่าวจะใช้สำหรับการตรวจหาความผิดปกติภายในร่างกาย การกระจายตัวของเซลล์มะเร็งไปยังอวัยวะอื่นๆ การตรวจติดตามผลการรักษา ซึ่งการตรวจในผู้ป่วยมะเร็งจะต้องมีการฉีดสารทึบรังสีร่วมด้วย นอกจากประสิทธิภาพการถ่ายภาพได้อย่างละเอียดแล้ว ยังสามารถใช้เทคโนโลยีในการสร้างภาพสามมิติ และสร้างภาพเสมือนจริงในการตรวจอวัยวะภายใน เช่น การจำลองการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Virtual Colonoscopy) ทำให้เห็นภาพเหมือนกับการส่องกล้องตรวจ ช่วยตรวจหาความผิดปกติในลำไส้ได้อย่างแม่นยำ
 

5. เครื่องเอ็มอาร์ไอ (Magnetic Resonance Imaging - MRI) 

เป็นการตรวจวินิจฉัยโรคด้วยเครื่องสนามแม่เหล็กไฟฟ้าแรงสูง (3 Tesla) ที่มีประสิทธิภาพสูงและใช้เทคโนโลยีชั้นสูง สำหรับตรวจอวัยวะและส่วนต่างๆ ของร่างกาย การตรวจผู้ป่วยจะต้องนอนนิ่งๆ ในสนามแม่เหล็ก การตรวจดังกล่าวไม่มีรังสีมีความปลอดภัยกับผู้ป่วย สามารถตรวจหาความผิดปกติของสมอง กระดูกสันหลัง เต้านม ช่องท้อง รยางค์ (แขนและขา) ข้อต่างๆ และระบบหลอดเลือด โดยการตรวจชนิดนี้จะให้ภาพที่มีรายละเอียดของเนื้อเยื่อชนิดต่าง ๆ ได้ดี สามารถแยกเนื้อเยื่อที่ผิดปกติออกจากเนื้อเยื่อปกติได้ชัดเจน ช่วยให้วางแผนการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 

6. เครื่องตรวจเอกซเรย์หลอดเลือด ระบบดิจิทัล (Digital Subtraction Angiography) 

เป็นเครื่องเอกซเรย์หลอดเลือดระบบดิจิทัล โดยใช้หลักการฟลูออโรสโคปี มีระบบแปลงสัญญาณภาพแบบ  FPD (Flat Panel Detector) สองระนาบ ใช้สำหรับการตรวจทางรังสีวิทยา ระบบหลอดเลือด หัตถการทางรังสีร่วมรักษา และการวิจัยโรค ซึ่งสามารถแสดง วิเคราะห์ และบันทึกภาพรังสีคุณภาพสูง เพื่อใช้ในการตรวจวินิจฉัย และให้การรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
7. เครื่องเอกซเรย์เต้านม ระบบดิจิทัล (Digital Mammography) 
เป็นการตรวจหาความผิดปกติ ตรวจหารอยโรคบริเวณเต้านม เช่น การตรวจหาจุดหินปูน ก้อนเนื้อ ถุงน้ำ หรือต่อมน้ำเหลืองบริเวณเต้านม ซึ่งในการตรวจจะมีการเอกซเรย์เต้านมในท่าต่างๆ เพื่อให้เห็นเนื้อเยื่อเต้านมหรือรอยโรคต่างๆ ได้อย่างชัดเจน โดยทั่วไปการตรวจเอกซเรย์เต้านมจะมีการตรวจอัลตร้าซาวด์เต้านมร่วมด้วย
 

8. การตรวจความยืดหยุ่นของตับ (Fibro Scan)

เป็นเครื่องมือที่ใช้ตรวจความยืดหยุ่นของตับ ตรวจวิเคราะห์ปริมาณไขมันสะสมในตับ ภาวะตับแข็ง ตรวจดูความยืดหยุ่นของตับ โดยเนื้อตับปกติจะมีลักษณะนิ่ม แต่ถ้ามีพังผืดมากหรือแข็งมาก เนื้อตับก็จะแน่นมากกว่าปกติ  ปัจจุบันเครื่องมือดังกล่าวถูกนำมาใช้ประเมินสภาพความแข็งของเนื้อตับ เพื่อทดแทนการเจาะชิ้นเนื้อตับ ลดอัตราการแทรกซ้อนของการเจาะตับได้   และสามารถใช้ตรวจติดตามภาวะตับแข็งได้ตามต้องการ
 

 

คำแนะนำสำหรับการเตรียมตัวก่อนการตรวจ

 
คำแนะนำสำหรับการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์(Computed Tomography, CT)
 
การเตรียมตัวตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT Brain)
เป็นการตรวจวินิจฉัยความผิดปกติของสมอง เพื่อดูพยาธิสภาพในกะโหลกศีรษะเมื่อได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ, ตรวจดูเนื้องอก, ฝี, โรคหลอดเลือดในสมอง  ตรวจดูการแพร่กระจายของมะเร็งมายังสมอง หาความผิดปกติที่มีมาแต่กำเนิด ซึ่งบางครั้งอาจฉีดสารทึบรังสีร่วมในการตรวจด้วย
กรณีฉีดสารทึบรังสี (Contrast media) ผู้ป่วยจะต้องงดน้ำและอาหารอย่างน้อย 6 ชั่วโมง ก่อนทำการตรวจ ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานให้งดยาเบาหวานในมื้อนั้น ๆ ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอื่น เช่น โรคหัวใจ หรือ ความดันโลหิตสูง ให้ทานยาได้ตามปกติแต่ทานน้ำตามในปริมาณน้อย (ไม่เกิน 30 มล.)
ขณะทำการตรวจผู้ป่วยจะต้องปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ ผู้ป่วยจะต้องนอนนิ่งๆ ไม่ขยับ ไม่กลืนน้ำลาย เพื่อให้ภาพที่ได้มีความคมชัดมากที่สุด  
ขณะทำการฉีดสารทึบรังสี ผู้ป่วยอาจมีอาการร้อนวูบวาบตามตัว เป็นอาการที่พบได้ ภายหลังจากการฉีดสารทึบรังสีจะมีเจ้าหน้าที่คอยสังเกตอาการภายในห้องตรวจ หากเกิดอาการผิดปกติอย่างอื่นให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทราบทันที 
ภายหลังจากการตรวจที่มีการฉีดสารทึบรังสีเข้าสู่ร่างกาย หากไม่มีข้อห้าม(เช่นผู้ป่วยโรคไต หรือหัวใจวายเรื้อรัง) ให้ทานน้ำให้ได้อย่างน้อย 2 ลิตรภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อช่วยในการขับสารทึบรังสีออกจากร่างกาย
 
การเตรียมตัวตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ศีรษะ/ลำคอ (CT Head / Neck)
เป็นการตรวจวินิจฉัยความผิดปกติหรือรอยโรคบริเวณศีรษะและลำคอ โพรงไซนัส  โพรงจมูก  ต่อมน้ำเหลือง ของผู้ป่วยมะเร็งต่าง ๆ   ซึ่งบางครั้งอาจฉีดสารทึบรังสีร่วมในการตรวจด้วย
กรณีฉีดสารทึบรังสี (Contrast media) ผู้ป่วยจะต้องงดน้ำและอาหารอย่างน้อย 6 ชั่วโมง ก่อนทำการตรวจ ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานให้งดยาเบาหวานในมื้อนั้น ๆ ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอื่น เช่น โรคหัวใจ หรือ ความดันโลหิตสูง ให้ทานยาได้ตามปกติแต่ทานน้ำตามในปริมาณน้อย (ไม่เกิน 30 มล.)
ขณะทำการตรวจผู้ป่วยจะต้องปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ ผู้ป่วยจะต้องนอนนิ่งๆ ไม่ขยับ ไม่กลืนน้ำลายขณะทำการสแกน เพื่อให้ภาพที่ได้มีความคมชัดมากที่สุด 
บางรายการตรวจผู้ป่วยจะต้องออกเสียง / เป่าปากแก้มป่อง ขณะทำการตรวจสแกน 
ขณะทำการฉีดสารทึบรังสี ผู้ป่วยอาจมีอาการร้อนวูบวาบตามตัว เป็นอาการที่พบได้ ภายหลังจากการฉีดสารทึบรังสีจะมีเจ้าหน้าที่คอยสังเกตอาการภายในห้องตรวจ หากเกิดอาการผิดปกติอย่างอื่นให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทราบทันที 
ภายหลังจากการตรวจที่มีการฉีดสารทึบรังสีเข้าสู่ร่างกาย หากไม่มีข้อห้าม(เช่นผู้ป่วยโรคไต หรือหัวใจวายเรื้อรัง) ให้ทานน้ำให้ได้อย่างน้อย 2 ลิตรภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อช่วยในการขับสารทึบรังสีออกจากร่างกาย
 
การเตรียมตัวตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์กระดูกสันหลัง (CT Spine)
เป็นการตรวจวินิจฉัยความผิดปกติหรือรอยโรคบริเวณกระดูกสันหลัง ตรวจหาความผิดปกติแต่กำเนิด เนื้องอก หรือตรวจหาความผิดปกติจากอุบัติเหตุ หรือดูการแพร่กระจายของผู้ป่วยมะเร็งต่างๆ ซึ่งบางกรณีอาจมีการฉีดสารทึบรังสีร่วมด้วย
กรณีฉีดสารทึบรังสี (Contrast media) ผู้ป่วยจะต้องงดน้ำและอาหารอย่างน้อย 6 ชั่วโมง ก่อนทำการตรวจ ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานให้งดยาเบาหวานในมื้อนั้น ๆ ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอื่น เช่น โรคหัวใจ หรือ ความดันโลหิตสูง ให้ทานยาได้ตามปกติแต่ทานน้ำตามในปริมาณน้อย (ไม่เกิน 30 มล.)
ขณะทำการตรวจผู้ป่วยจะต้องปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ ผู้ป่วยจะต้องนอนนิ่งๆ ไม่ขยับ เพื่อให้ภาพที่ได้มีความคมชัด 
ขณะทำการฉีดสารทึบรังสี ผู้ป่วยอาจมีอาการร้อนวูบวาบตามตัว เป็นอาการที่พบได้ ภายหลังจากการฉีดสารทึบรังสีจะมีเจ้าหน้าที่คอยสังเกตอาการภายในห้องตรวจ หากเกิดอาการผิดปกติอย่างอื่นให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทราบทันที 
ภายหลังจากการตรวจที่มีการฉีดสารทึบรังสีเข้าสู่ร่างกาย หากไม่มีข้อห้าม เช่น ผู้ป่วยโรคไต หรือหัวใจวายเรื้อรัง ให้ทานน้ำให้ได้อย่างน้อย 2 ลิตรภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อช่วยในการขับสารทึบรังสีออกจากร่างกาย
 
การเตรียมตัวตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทรวงอก (CT Chest / Thorax)
เป็นการตรวจเพื่อดูความผิดปกติ หรือรอยโรคของอวัยวะในทรวงอก เช่น มะเร็งปอด เนื้องอกในผนังทรวงอก การแพร่กระจายของมะเร็งมาที่ปอด ภาวะถุงลมโป่งพอง ภาวะที่ช่องปอดมีหนองและน้ำ ดูความผิดปกติของต่อมน้ำเหลือง และถุงลมในปอดซึ่งสามารถเห็นได้ชัดเจนกว่าการเอกซเรย์ปกติ ส่วนใหญ่จะฉีดสารทึบรังสีร่วมในการตรวจด้วย
กรณีฉีดสารทึบรังสี (Contrast media) ผู้ป่วยจะต้องงดน้ำและอาหารอย่างน้อย 6 ชั่วโมง ก่อนทำการตรวจ ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานให้งดยาเบาหวานในมื้อนั้น ๆ ด้วย ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอื่น เช่น โรคหัวใจ หรือ ความดันโลหิตสูง ให้ทานยาได้ตามปกติแต่ทานน้ำตามในปริมาณน้อย (ไม่เกิน 30 มล.)
ขณะทำการตรวจผู้ป่วยจะต้องปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ ผู้ป่วยจะต้องนอนนิ่งๆ ไม่ขยับ เพื่อให้ภาพที่ได้มีความคมชัด ขณะทำการตรวจจะมีเสียงบอกหายใจเข้าแล้วกลั้นหายใจให้ผู้ป่วยปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด
หากมีการฉีดสารทึบแสบ ขณะที่อยู่บนเตียงตรวจ ทันทีที่ฉีดสารทึบรังสี ผู้ป่วยอาจมีอาการร้อนวูบวาบตามตัว เป็นอาการที่พบได้ แต่หากเกิดอาการผิดปกติอย่างอื่นให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทราบทันที
หากได้รับการฉีดสารทึบแสง หากไม่มีข้อห้าม (เช่นผู้ป่วยโรคไต หรือหัวใจวายเรื้อรัง) หลังการตรวจให้ทานน้ำให้ได้อย่างน้อย 2 ลิตรใน 24 ชั่วโมงเพื่อช่วยในการขับสารทึบรังสีออก
 
การเตรียมตัวตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ส่วนรยางค์ (แขนและขา) (CT Extremity)
เป็นการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูงเพื่อตรวจวินิจฉัย ตรวจดูพยาธิสภาพที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยในส่วนต่างๆ เช่น การตรวจหามะเร็งระยะเริ่มแรก การอักเสบ หรือการกระจายตัวของเซลล์มะเร็งไปยังอวัยวะอื่น ๆ ซึ่งการตรวจในผู้ป่วยมะเร็งจะต้องมีการฉีดสารทึบรังสีร่วมด้วย
กรณีฉีดสารทึบรังสี (Contrast media) ผู้ป่วยจะต้องงดน้ำและอาหารอย่างน้อย 6 ชั่วโมง ก่อนทำการตรวจ ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานให้งดยาเบาหวานในมื้อนั้น ๆ ด้วย ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอื่น เช่น โรคหัวใจ หรือ ความดันโลหิตสูง ให้ทานยาได้ตามปกติแต่ทานน้ำตามในปริมาณน้อย (ไม่เกิน 30 มล.)
ก่อนทำการตรวจเจ้าหน้าที่จะจัดท่าที่เหมาะสมสำหรับการตรวจ หาผู้ป่วยมีข้อจำกัดในการขยับร่างกายหรือมีอาการบาดเจ็บของรยางค์ให้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่
ขณะทำการตรวจผู้ป่วยจะต้องปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ ผู้ป่วยจะต้องนอนนิ่งๆ ไม่ขยับ เพื่อให้ภาพที่ได้มีความคมชัด 
หากมีการฉีดสารทึบแสบ ขณะที่อยู่บนเตียงตรวจ ทันทีที่ฉีดสารทึบรังสี ผู้ป่วยอาจมีอาการร้อนวูบวาบตามตัว เป็นอาการที่พบได้ แต่หากเกิดอาการผิดปกติอย่างอื่นให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทราบทันที
หากได้รับการฉีดสารทึบแสง หากไม่มีข้อห้าม(เช่นผู้ป่วยโรคไต หรือหัวใจวายเรื้อรัง) หลังการตรวจให้ทานน้ำให้ได้อย่างน้อย 2 ลิตรใน 24 ชั่วโมงเพื่อช่วยในการขับสารทึบรังสีออก
 
การเตรียมตัวตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องท้อง (CT Abdomen)
เป็นการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูงเพื่อตรวจวินิจฉัย ตรวจดูพยาธิสภาพที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยในส่วนต่างๆ เช่น การตรวจหามะเร็งระยะเริ่มแรก การอักเสบ หรือการกระจายตัวของเซลล์มะเร็งไปยังอวัยวะอื่น ๆ ซึ่งการตรวจในผู้ป่วยมะเร็งจะต้องมีการฉีดสารทึบรังสีร่วมด้วย
กรณีฉีดสารทึบรังสี (Contrast media) ผู้ป่วยจะต้องงดน้ำและอาหาร อย่างน้อย 6 ชั่วโมง ก่อนทำการตรวจ ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานให้งดยาเบาหวานในมื้อนั้น ๆ ด้วย ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอื่น เช่น โรคหัวใจ หรือ ความดันโลหิตสูง ให้ทานยาได้ตามปกติแต่ทานน้ำตามในปริมาณน้อย (ไม่เกิน 30 มล.)
ขณะทำการตรวจผู้ป่วยจะต้องปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ ผู้ป่วยจะต้องนอนนิ่งๆ ไม่ขยับ เพื่อให้ภาพที่ได้มีความคมชัด ขณะทำการตรวจจะมีเสียงบอกหายใจเข้าแล้วกลั้นใจนิ่ง ผู้ป่วยจะต้องปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด
หากมีการฉีดสารทึบแสบ ขณะที่อยู่บนเตียงตรวจ ทันทีที่ฉีดสารทึบรังสี ผู้ป่วยอาจมีอาการร้อนวูบวาบตามตัว เป็นอาการที่พบได้ แต่หากเกิดอาการผิดปกติอย่างอื่นให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทราบทันที
กรณีตรวจช่องท้องส่วนบน ผู้ป่วยจะต้องทานน้ำ 3 แก้ว ก่อนการตรวจ ส่วนการตรวจเอกซเรย์ช่องท้องส่วนล่างหรือช่องท้องทั้งหมด อาจจะได้รับการสวนน้ำเปล่าหรือน้ำผสมสารทึบแสงเข้าทางทวารหนักเพื่อทำให้ภาพการตรวจเหมาะสมกับการแปลผล หากผู้ป่วยต้องจำกัดน้ำ หรือมีปัญหาเรื่องการกลั้นอุจจาระ หรือมีแผล/อาการบาดเจ็บที่ทวารหนัก กรุณาแจ้งเจ้าหน้าที่
หากได้รับการฉีดสารทึบแสง หากไม่มีข้อห้าม(เช่นผู้ป่วยโรคไต หรือหัวใจวายเรื้อรัง) หลังการตรวจให้ทานน้ำให้ได้อย่างน้อย 2 ลิตรใน 24 ชั่วโมงเพื่อช่วยในการขับสารทึบรังสีออก
 

คำแนะนำสำหรับการตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging, MRI)

 
การเตรียมตัวตรวจเอ็มอาร์ไอ
การตรวจเอ็มอาร์ไอ เป็นการตรวจวินิจฉัยโรคโดยอาศัยหลักการของสนามแม่เหล็กไฟฟ้าแรงสูงและคลื่นวิทยุ ซึ่งในการตรวจจะมีการส่งคลื่นวิทยุที่ความถี่ต่างๆ ไปกระตุ้นและหยุดกระตุ้นเป็นระยะๆ  ภายหลังจากหยุดกระตุ้นจะมีการส่งสัญญาณกลับมายังอุปกรณ์รับสัญญาณภาพ (coil) เพื่อนำมาสร้างเป็นภาพเพื่อทำการวินิจฉัยโรคต่อไป 
ในแต่ละรายการตรวจจะมีการใส่อุปกรณ์รับสัญญาณภาพซึ่งจะมีลักษณะที่แตกต่างไป ขึ้นกับส่วนที่ต้องการตรวจเช่น การตรวจระบบสมอง จะมีอุปกรณ์รับสัญญาณภาพครอบอยู่บริเวณศีรษะ กรณีตรวจกระดูกสันหลัง อุปกรณ์รับภาพจะวางอยู่ด้านหลังผู้ป่วย กรณีตรวจช่องท้องจะมีอุปกรณ์รับภาพวางบริเวณลำตัวผู้ป่วย เป็นต้น
ผู้ป่วยที่เคยผ่าตัดใส่โลหะหรือวัสดุอื่นๆ ในร่างกาย มีเศษโลหะในลูกตา ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ หรือมีอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆ ในร่างกาย กลัวที่แคบอย่างรุนแรง กรุณาแจ้งแพทย์ผู้ส่งตรวจ เพื่อประเมินการในเบื้องต้น ก่อนเข้ารับบริการ หากไม่สามารถเข้าตรวจได้จะต้องเปลี่ยนเครื่องที่ใช้ในการตรวจวินิจฉัยต่อไป และขณะทำการซักประวัติก่อนเข้าห้องตรวจทุกครั้ง และในวันที่เข้ารับการตรวจผู้ป่วยจะต้องแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อรับทราบต่อไป
ขณะทำการตรวจผู้ป่วยจะต้องนอนในเครื่อง รูปร่างคล้ายอุโมงค์ ผู้ป่วยจะต้องนอนนิ่งๆ ขณะเก็บสัญญาณภาพเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 30 นาที - 1 ชั่วโมง ขึ้นกับรายการตรวจ ผู้ป่วยจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด ในบางรายการตรวจผู้ป่วยจะต้องมีการกลั้นหายใจเป็นระยะๆ เพื่อให้ได้ภาพที่มีความคมชัด
ไม่จำเป็นต้องงดน้ำและอาหาร สามารถทานยาโรคประจำตัวได้ตามปกติ ยกเว้น การตรวจดูความผิดปกติบริเวณถุงน้ำดี (MRCP) จะต้องงดน้ำและอาหารอย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนการตรวจ
 

คำแนะนำสำหรับการตรวจอัลตร้าซาวด์ (Ultrasound, US)

 
การเตรียมตัวส่วนลำคอและอวัยวะส่วนอื่นๆ (US.Neck / Thyroid and Other)
เป็นการตรวจพิเศษโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะภายในร่างกาย โดยอาศัยหลักการสะท้อนกลับของคลื่นเสียงที่ส่งไปยังผู้ป่วย การตรวจด้วยอัลตร้าซาวด์จะมีความปลอดภัยเนื่องจากเป็นการตรวจพิเศษที่ไม่มีการใช้รังสี 
ผู้ป่วยไม่ต้องงดน้ำและอาหาร สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ หากมีโรคประจำตัวให้ทานยาได้ตามปกติ
ระหว่างการตรวจอาจผู้ป่วยจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ เพื่อให้ได้ภาพที่มีคมชัด เหมาะสำหรับการวินิจฉัยโรค
 
การเตรียมตัวตรวจช่องท้องส่วนบน (US.Upper Abdomen)
เป็นการตรวจพิเศษโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะภายในร่างกาย โดยอาศัยหลักการสะท้อนกลับของคลื่นเสียงที่ส่งไปยังผู้ป่วย การตรวจด้วยอัลตร้าซาวด์จะมีความปลอดภัยเนื่องจากเป็นการตรวจพิเศษที่ไม่มีการใช้รังสี 
ผู้ป่วยจะต้องงดน้ำและอาหารอย่างน้อย 4-6 ชั่วโมง ก่อนทำการตรวจ ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานให้งดยาเบาหวานในมื้อนั้น ๆ ด้วย ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอื่น เช่น โรคหัวใจ หรือ ความดันโลหิตสูง ให้ทานยาได้ตามปกติแต่ทานน้ำตามในปริมาณน้อย
ระหว่างการตรวจผู้ป่วยจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ โดยจะให้ผู้ป่วยหายใจเข้า/ออก หรือ กลั้นหายในเป็นครั้ง ๆ เพื่อให้ได้ภาพการตรวจที่มีคุณภาพและแปลผลได้แม่นยำ หากผู้ป่วยมีปัญหาเรื่องการฟังหรือกลั้นหายใจอาจจะจำเป็นต้องมีญาติช่วยเหลือขณะทำการตรวจ หรือเปลี่ยนชนิดการตรวจ ระหว่างการตรวจอาจต้องมีการพลิกตะแคงตัว หรือลุกนั่ง 
 
การเตรียมตัวตรวจช่องท้องทั้งหมด (US.Whole Abdomen)
เป็นการตรวจพิเศษโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะภายในร่างกาย โดยอาศัยหลักการสะท้อนกลับของคลื่นเสียงที่ส่งไปยังผู้ป่วย การตรวจด้วยอัลตร้าซาวด์จะมีความปลอดภัยเนื่องจากเป็นการตรวจพิเศษที่ไม่มีการใช้รังสี 
ผู้ป่วยจะต้องงดน้ำและอาหารอย่างน้อย 4-6 ชั่วโมง ก่อนทำการตรวจ ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานให้งดยาเบาหวานในมื้อนั้น ๆ ด้วย ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอื่น เช่น โรคหัวใจ หรือ ความดันโลหิตสูง ให้ทานยาได้ตามปกติแต่ทานน้ำตามในปริมาณน้อย
การตรวจจำเป็นต้องให้มีปัสสาวะในกระเพาะปัสสาวะด้วย ดังนั้นผู้ป่วยจะต้องกลั้นปัสสาวะขณะรอเข้าตรวจ เจ้าหน้าที่ประจำห้องตรวจอาจให้ผู้ป่วยดื่มน้ำเพิ่มในบางกรณี
ระหว่างการตรวจผู้ป่วยจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ โดยจะให้ผู้ป่วยหายใจเข้า/ออก หรือ กลั้นหายในเป็นครั้ง ๆ เพื่อให้ได้ภาพการตรวจที่มีคุณภาพและแปลผลได้แม่นยำ หากผู้ป่วยมีปัญหาเรื่องการฟังหรือกลั้นหายใจอาจจะจำเป็นต้องมีญาติช่วยเหลือขณะทำการตรวจ หรือเปลี่ยนชนิดการตรวจ ระหว่างการตรวจอาจต้องมีการพลิกตะแคงตัว หรือลุกนั่ง
 
การเตรียมตัวตรวจระบบทางเดินปัสสาวะและช่องท้องส่วนล่าง(US KUB System and Lower Abdomen)
เป็นการตรวจพิเศษโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะภายในร่างกาย โดยอาศัยหลักการสะท้อนกลับของคลื่นเสียงที่ส่งไปยังผู้ป่วย การตรวจด้วยเครื่องอัลตร้าซาวด์จะมีความปลอดภัยสูง เนื่องจากเป็นการตรวจพิเศษที่ไม่มีการใช้รังสี 
ผู้ป่วยไม่ต้องงดน้ำและอาหาร สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ หากมีโรคประจำตัวให้ทานยาได้ตามปกติ
การตรวจจำเป็นต้องให้มีปัสสาวะในกระเพาะปัสสาวะด้วย ดังนั้นผู้ป่วยจะต้องกลั้นปัสสาวะขณะรอเข้าตรวจ เจ้าหน้าที่ประจำห้องตรวจอาจให้ผู้ป่วยดื่มน้ำเพิ่มในบางกรณี
ระหว่างการตรวจผู้ป่วยจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ โดยจะให้ผู้ป่วยหายใจเข้า/ออก หรือ กลั้นหายในเป็นครั้ง ๆ เพื่อให้ได้ภาพการตรวจที่มีคุณภาพและแปลผลได้แม่นยำ หากผู้ป่วยมีปัญหาเรื่องการฟังหรือกลั้นหายใจอาจจะจำเป็นต้องมีญาติช่วยเหลือขณะทำการตรวจ หรือเปลี่ยนชนิดการตรวจ ระหว่างการตรวจอาจต้องมีการพลิกตะแคงตัว หรือลุกนั่ง
 
คำแนะนำสำหรับการตรวจเอกซเรย์เต้านม / อัลตร้าซาวด์เต้านม (Mammogram and Ultrasound Breast, MG/US)
การตรวจเอกซเรย์เต้านม เป็นการตรวจเพื่อหาความผิดปกติ เช่น จุดหินปูนในเต้านม ก้อนในเต้านม ต่อมน้ำเหลืองบริเวณเต้านม เป็นต้น โดยการตรวจจะมีการดึงเต้านมและมีการบีบเต้านมทั้งสองข้าง เพื่อให้เนื้อเยื่อเต้านมแผ่เหมาะสมสำหรับการเอกเรย์ เพื่อให้ได้ภาพที่มีความชัดเจน  ซึ่งโดยทั่วไปการตรวจจะทำอัลตร้าซาวด์เต้านมร่วมด้วย 
ผู้ป่วยไม่ต้องงดน้ำและอาหาร สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ
งดทาแป้ง  เครื่องสำอาง โรลออน ครีม หรือสิ่งอื่นใด บริเวณเต้านม และ รักแร้ทั้งสองข้าง
ผู้ป่วยจะต้องแจ้งเจ้าหน้าที่หรือรังสีแพทย์ทุกครั้ง ถ้าเคยผ่าตัดหรือเคยเจาะตรวจชิ้นเนื้อเต้านมมาก่อน หรือคลำก้อนได้ที่เต้านม
 

Contact

Phone:

0 2576 6298-99
1118 กด 5041-42

LINE:

เพิ่มเพื่อน

Service Hours

จันทร์ - อาทิตย์
ตลอด 24 ชั่วโมง

Location

ภาพวินิจฉัยและรังสีร่วมรักษา

ชั้น 1 โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ขนาด 400 เตียง
ชั้น 4 ตึกศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยาจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์
 
เลขที่ 906 ถนนกำแพงเพชร6 แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210