ศูนย์การรักษา ศูนย์การรักษา

มะเร็งวิทยา ศูนย์มะเร็งวิทยา

ศูนย์มะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาภรณ์

ให้บริการตรวจวินิจฉัยรักษาโรคมะเร็งสำหรับประชาชนอย่างครบวงจร โดยได้พัฒนายกระดับการรักษาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ได้มาตรฐานสากล ด้วยเทคโนโลยีอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ประสิทธิภาพขั้นสูง และพัฒนาความรู้ความสามารถของบุคลากรทุกระดับ ให้สามารถประเมินความเสี่ยง ตรวจคัดกรอง วินิจฉัย ประเมินระยะของโรค และการติดตามค้นหารอยโรคที่กลับเป็นซ้ำได้อย่าง รวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ รวมทั้งการกำหนดแผนการรักษาโดยคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ (Tumor Board) เพื่อร่วมกันพิจารณาตัดสินแนวทางการรักษาที่เหมาะสมและดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย การรักษาโรคมะเร็งด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งการผ่าตัด การฉายรังสี การให้ยาเคมีบำบัด การรักษามะเร็งแบบมุ่งเป้า (Targeted Therapy) การตรวจวินิจฉัยและรักษามะเร็งด้วยเวชศาสตร์นิวเคลียร์ หัตถการรักษามะเร็ง และการรักษาผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย โดยทีมสหสาขาวิชาชีพที่เน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง

ปัจจุบันโรงพยาบาลจุฬาภรณ์มีเทคโนโลยีเครื่องทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐานในระดับสากลทัดเทียมนานาประเทศครบทุกมิติของการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง และมีบุคลากรทางการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็งในหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็น อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา มะเร็งวิทยานรีเวช และศัลยแพทย์มะเร็งสาขาต่างๆ พร้อมทีมให้การสนับสนุนทั้งแพทย์ในสาขาต่างๆ พยาบาลทั่วไป และพยาบาลเฉพาะทางมะเร็ง เภสัชกร นักโภชนากร นักกายภาพ นักรังสีเทคนิค เทคนิคการแพทย์ เวชศาสตร์การกีฬา และนักฟิสิกส์รังสี ภายใต้การดูแลรักษาร่วมกันแบบสหสาขาวิชาชีพ และมุ่งเน้นการสร้างงานวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ในการรักษาพยาบาล สร้างเครือข่ายความร่วมมือการใช้อุปกรณ์เครื่องมือที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง และพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ในสาขาที่ขาดแคลนอย่างต่อเนื่อง สนองพระปณิธานและพระวิสัยทัศน์ใน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานผู้ก่อตั้งโรงพยาบาล รวมทั้งทรงวางรากฐานการดำเนินงานด้านวิทยาศาสตร์ การค้นคว้าวิจัย การแพทย์นานัปการที่จะช่วยยกระดับการรักษาด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยให้เกิดประโยชน์และความคุ้มค่าอย่างสูงสุด และมุ่งหวังให้เกิดการบูรณาการการรักษาโรคมะเร็งทุกภาคส่วนในการพัฒนาศักยภาพการตรวจรักษาโรคมะเร็งในประเทศไทย เพื่อขยายโอกาสทางการรักษาแก่ประชาชนทุกกลุ่ม พร้อมทั้งผลักดันและขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นเมดิคัลฮับ (Medical Hub) ด้านการรักษาโรคมะเร็งในภูมิภาคอาเซียน

 บริการทางการแพทย์ด้านการตรวจรักษาโรคมะเร็ง

ศูนย์มะเร็งวิทยาจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ให้บริการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งครบวงจรด้วยเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยและรักษาตามมาตรฐานสากล ควบคู่กับการศึกษาวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมการแพทย์ที่ก้าวหน้า ด้วยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสหสาขาวิชาเพื่อร่วมกันวางแผนวินิจฉัยรักษาโรคมะเร็งอย่างมีประสิทธิภาพที่ผู้ป่วยมะเร็งทุกสิทธิ์การรักษาสามารถเข้าถึงได้ พร้อมทั้งมีหน่วยงานสนับสนุนที่ให้บริการผู้ป่วยโรคมะเร็งก่อนการรักษา ระหว่างการรักษา และหลังการรักษา

 

คลินิกเฉพาะทางโรคมะเร็ง

  • คลินิกอายุรกรรมโรคมะเร็ง
  • คลินิกมะเร็งนรีเวช
  • คลินิกมะเร็งตับและท่อน้ำดี
  • คลินิกมะเร็งเต้านมคลินิกศัลยกรรมลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
  • คลินิกมะเร็งกระดูกและเนื้อเยื่อ
  • คลินิกเฉพาะทางโรคมะเร็งปอด


บริการทางการแพทย์ครบวงจรเพื่อการตรวจรักษาและดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง

  • การตรวจสุขภาพและประเมินความเสี่ยงโรคมะเร็ง
  • การตรวจทางรังสีวินิจฉัยและการใช้รังสีร่วมรักษา
  • การตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องเพทสแกน
  • การตรวจวินิจฉัยทางโมเลกุลโรคมะเร็ง
  • การผ่าตัดรักษามะเร็งชนิดที่สามารถผ่าตัดได้
  • การให้ยาเคมีบำบัด ยามุ่งเป้า ภูมิคุ้มกันบำบัด
  • การฉายรังสีรักษามะเร็ง
  • การตรวจรักษาทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์
  • การวางแผนรักษาโรคมะเร็ง (Tumor Board) โดยทีมสหสาขาวิชาชีพ
  • การบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยมะเร็ง และการฟื้นฟูผู้ป่วยก่อนการรักษามะเร็ง (Preventive Rehabilitation)
  • การดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งด้วยการแพทย์ผสมผสานและการรักษาแบบประคับประคอง (Palliative Care)

 สำหรับผู้ป่วยมะเร็งใหม่
ที่ต้องการเข้ารับบริการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ สามารถปรึกษาเพื่อวางแผนการเข้ารับการรักษามะเร็งและนัดหมายล่วงหน้าผ่านระบบ Teleconsultation for Oncology ในเมนู LINE Official Account โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เพื่อคัดกรองประวัติและอาการกับแพทย์ก่อนนัดหมายเข้ารับบริการต่อไปตามมาตรการหาหมอแบบ New Normal เพื่อประหยัดเวลาและลดการเดินทางมาโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น


 เทคโนโลยีหุ่นยนต์ผสมยาเคมีบำบัด

โรงพยาบาลจุฬาภรณ์นอกจากจะมุ่งเน้นการรักษาผู้ป่วยมะเร็งอย่างครบวงจรแล้ว การเลือกนำหุ่นยนต์ผสมยาเคมีบำบัดมาใช้ภายใต้การกำกับดูแลควบคู่กับองค์ความรู้ของเภสัชกร เพื่อพัฒนาศักยภาพในการบริการจึงนับเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในด้านการให้บริการ ด้วยนวัตกรรมหุ่นยนต์ผสมยาเคมีบำบัดแบบครบวงจรที่สั่งการทำงานด้วยแขนกล และควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์อัตโนมัติภายใต้สภาวะปลอดเชื้อ ตามมาตรฐานการเตรียมยา คำนวณปริมาณยาจากการชั่งน้ำหนัก ซึ่งมีความจำเพาะตามความหนาแน่นของยาแต่ละชนิด และมีการถ่ายภาพยืนยันชนิดยาที่เตรียม พร้อมระบบตรวจสอบความถูกต้องของส่วนผสมยาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพความแม่นยำให้สูงขึ้น และได้มาตรฐานการเตรียมยาระดับสากล ทั้งนี้ หลักการทำงานและศักยภาพของหุ่นยนต์ผสมยาเคมีบำบัด จะทำได้ดีที่สุดกรณีที่เตรียมยาชนิดเดียวกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของโรงพยาบาลที่จะมีการวางแผนล่วงหน้าในการนัดผู้ป่วยที่ได้รับยาสูตรเดียวกัน มารับยาในวันเดียวกัน ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยได้รับยารวดเร็ว ตรงตามเวลา ช่วยลดการแออัดและจัดระเบียบการให้บริการได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้รับบริการ ทั้งในด้านความถูกต้อง รวดเร็ว และปลอดภัย นอกจากนี้ หุ่นยนต์ผสมยาเคมีบำบัดแบบครบวงจรยังผ่านการรับรองมาตรฐานการบริหารความเสี่ยงสำหรับเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์จากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา ทำให้ช่วยเสริมสร้างความมั่นใจในความถูกต้องและปลอดภัยให้แก่ผู้ป่วย การทำงานของหุ่นยนต์ผสมยา ทำให้สามารถมั่นใจได้ว่ายาที่เตรียมสำหรับผู้ป่วยนั้น ถูกคน ถูกยา ถูกขนาดและมีความแม่นยำสูงแน่นอนและปลอดภัยทั้งกับผู้ปฏิบัติงานในการช่วยลดความเสี่ยงในการสัมผัสยาโดยตรง


 หน่วยเคมีบำบัดและการดูแลผู้ป่วย

ให้บริการผู้ป่วยที่ต้องรับการบำบัดด้วยเคมี เลือด และยาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคมะเร็งแก่ผู้ที่มีความสะดวกในการรับบริการแบบไม่พักค้างในโรงพยาบาล ประกอบด้วยห้องที่มีความเป็นส่วนตัว และเก้าอี้ที่สามารถปรับเอนได้ตามความต้องการ ในสิ่งแวดล้อมที่สะอาด ไม่แออัด พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็น โดยทีมผู้ดูแลที่มีความเชี่ยวชาญ นอกจากนี้ผู้รับบริการและครอบครัวยังสามารถเข้าร่วมกิจกรรมบำบัดที่ทางโรงพยาบาลจัดให้ในแต่ละวัน


 

 เทคโนโลยีการฉายรังสีรักษามะเร็ง

ศูนย์รังสีมะเร็งวิทยา ศูนย์รวมการรักษาโรคมะเร็งด้วยรังสีที่ครบครันและทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย

การฉายรังสีแบบสามมิติ (3D conformal radiation therapy) เป็นเทคนิคในการฉายรังสีโดยใช้ภาพจากเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และความก้าวหน้าในด้านโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อจำลองการรักษาเสมือนจริงก่อนการรักษา เพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสมที่สุด ทำให้ความแม่นยำในการฉายก้อนเนื้อมะเร็งมีมากขึ้น และรังสีโดนอวัยวะข้างเคียงลดลง แต่ยังมีข้อจำกัดบางประการ เช่น ในกรณีที่ก้อนเนื้อมะเร็งโอบล้อมหรืออยู่ใกล้อวัยวะปกติมาก เทคนิคการฉายแสงแบบสามมิตินี้ไม่สามารถจำกัดปริมาณแสงต่ออวัยวะนั้นได้

การฉายรังสีแบบสามมิติแปรความเข้ม (Intensity Modulated Radiotherapy) เป็นการฉายแสงแบบสามมิติ โดยเพิ่มเทคนิคในการปรับความเข้มของลำรังสี แก้ไขข้อจำกัดที่เกิดขึ้นในเทคนิคการฉายแสงแบบสามมิติได้ โดยควบคุมความเข้มของรังสีให้มีปริมาณความเข้มมากในบริเวณก้อนมะเร็งและมีความเข้มน้อยในบริเวณอวัยวะปกติ มีผลให้ปริมาณรังสีที่บริเวณอวัยวะปกติได้รับน้อยลง โดยไม่ลดปริมาณรังสีต่อก้อนมะเร็ง และมีผลข้างเคียงหลังการฉายรังสีน้อยลง

รังสีรักษาภาพนำวิถี (Image guided radiation therapy) แม้ว่าการวางแผนการรักษาด้วยเทคนิครังสีสามมิติ และรังสีสามมิติแปรความเข้มจะวางแผนในภาพสามมิติที่ได้มาจากการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ก็ตาม แต่ก็เป็นภาพนิ่งในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น ในความเป็นจริงตำแหน่งของก้อนมะเร็งและอวัยวะภายในยังสามารถเปลี่ยนแปลงได้ในระหว่างการฉายรังสีแต่ละครั้ง ทั้งนี้ จากการขยับของอวัยวะภายในและก้อนมะเร็งเอง หรือจากที่ขนาดของก้อนมะเร็งมีการเปลี่ยนแปลงไปทำให้ก้อนมะเร็งอาจหลุดออกจากตำแหน่งเดิมและไม่ได้รับปริมาณรังสีตามที่วางแผนไว้ ดังนั้น เพื่อให้ก้อนมะเร็งได้รับปริมาณรังสีตรงตามแผนการรักษาในปัจจุบันทั้ งเทคนิคการฉายรังสีแบบสามมิติ และรังสีสามมิติแบบปรับความเข้ม ได้กำหนดให้มีการตรวจสอบตำแหน่งของเนื้องอกในแต่ละวันของการรักษาด้วยภาพเอกซเรย์ก่อนฉายรังสี เรียกว่ารังสีรักษาภาพนำวิถี หากมีความคลาดเคลื่อนของตำแหน่งก้อนมะเร็งจากที่วางแผนไว้ จะมีการแก้ไขตำแหน่งให้ถูกต้องก่อนฉายรังสี หรือถ้าก้อนมะเร็งมีการเปลี่ยนแปลงขนาดระหว่างฉายรังสีมากจนแผนการฉายรังสีเดิมไม่เหมาะสม แพทย์จะพิจารณาปรับแผนการฉายรังสีให้เหมาะกับขนาดก้อนที่เปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน

เครื่องฉายรังสี รุ่น Ethos แห่งแรกในอาเซียน แม่นยำรักษาตรงจุด 

  • ลดปริมาณรังสีต่ออวัยวะข้างเคียง
  • เช็กตำแหน่งก่อนฉายรังสีด้วยภาพ 3 มิติ แม่นยำลดความคลาดเคลื่อน
  • AI ช่วยปรับแผนการฉายรังสีให้เข้ากับก้อนมะเร็งที่เปลี่ยนแปลง
  • หัวฉายรังสีหมุนเร็วขึ้นลดเวลาฉายรังสี
  • เตียงปรับระดับสูง - ต่ำตามความสะดวกของผู้ป่วย
  • หัวฉายรังสีหมุนเร็วขึ้นลดเวลาฉายรังสี

 ยากระตุ้นภูมิคุ้มกันบำบัด หรือ Immunotherapy

  • ช้ในการกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
  • ยับยั้งกระบวนการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันของเซลล์มะเร็ง
  • เพิ่มประสิทธิภาพให้เม็ดเลือดขาวและภูมิคุ้มกันเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ยากระตุ้นภูมิคุ้มกันบำบัด หรือ Immunotherapy สามารถใช้ในมะเร็ง

  • มะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา (melanoma) พิจารณาใช้เป็นการรักษาเสริมหลังผ่าตัด หรือ ในระยะลุกลาม
  • มะเร็งศีรษะและลำคอ ในระยะลุกลามที่ไม่ตอบสนองต่อการใช้ยาเคมีบำบัด
  • มะเร็งปอด พิจารณาใช้เป็นการรักษาเสริมหลังผ่าตัด หรือ ในระยะลุกลาม โดยใช้ยากระตุ้นภูมิคุ้มกันเพียงตัวเดียวหรือร่วมกับยาเคมีบำบัด
  • มะเร็งเต้านม ชนิด triple negative ใช้ยากระตุ้นภูมิคุ้มกันร่วมกับยาเคมีบำบัด ก่อนการผ่าตัด หรือ ในระยะลุกลาม
  • มะเร็งหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร ใช้ยากระตุ้นภูมิคุ้มกันร่วมกับยาเคมีบำบัด  ในระยะลุกลาม
  • มะเร็งไต ระยะลุกลามที่ไม่ตอบสนองต่อการใช้ยามุ่งเป้า
  • มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ระยะลุกลามที่ไม่ตอบสนองต่อการใช้ยาเคมีบำบัด
  • มะเร็งตับ ระยะลุกลาม ใช้ร่วมกับยามุ่งเป้า หรือ ยากระตุ้นภูมิคุ้มกันบำบัด 2 ชนิดร่วมกัน
  • มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ที่มีการกลับเป็นซ้ำหรือดื้อต่อการรักษาด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูกและการรักษาด้วยยามุ่งเป้า

ผลข้างเคียงของการใช้ยากระตุ้นภูมิคุ้มกันบำบัด

ผลข้างเคียงที่พบบ่อย มากกว่าร้อยละ 10 

  • อาการอ่อนเพลีย
  • ลำไส้อักเสบ (ปวดท้อง ท้องเสีย)
  • ผิวหนังอักเสบ (คัน ผื่นแดง)

ผลข้างเคียงที่พบน้อย

  • ปอดอักเสบ (ไอ เหนื่อย)
  • ตับอักเสบ (ไข้ ปวดท้อง)
  • ต่อมไทรอยด์อักเสบ (ฮอร์โมนไทรอยด์ขาด หรือ เกิน)
  • ต่อมหมวกไตอักเสบ (อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า)

การปฏิบัติตัวเมื่อสงสัยผลข้างเคียงจากยาภูมิคุ้มกันบำบัด

เนื่องจากยาภูมิคุ้มกันบำบัดในการรักษาโรคมะเร็งเป็นแนวทางการรักษาแบบใหม่ ดังนั้นผู้ป่วยและญาติ จึงควร

  1. ศึกษารายละเอียดของยาจากแพทย์ผู้ให้การรักษา และ/หรือแหล่งความรู้ที่น่าเชื่อถือ
  2. ควรจดและจำชื่อยาที่กำลังได้รับ เพื่อช่วยให้การวินิจฉัยผลข้างเคียงจากยา และปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ถูกต้องรวดเร็ว
  3. เฝ้าสังเกตอาการที่ผิดปกติ และปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหากสงสัยผลข้างเคียงจากยา
  4. รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายเป็นประจำ และพักผ่อนให้เพียงพอ 

 

ภาพตัวอย่างระบบภูมิคุ้มกันของเซลล์มะเร็ง


การหลบหลีกระบบภูมิคุ้มกันของเซลล์มะเร็ง

 

การกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน โดยยาภูมิคุ้มกันบำบัด หรือ Immunotherapy

(ดัดแปลงจาก  nippon.com)

 

ศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยาจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์
ให้บริการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งครบวงจรด้วยเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยและรักษาตามมาตรฐานสากล พร้อมด้วยคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาที่ประชุมวางแผนพิจารณาหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมและดีที่สุดให้กับผู้ป่วยมะเร็งทุกราย ร่วมกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI for Oncology) ที่ร่วมช่วยพัฒนาแนวทางการวินิจฉัยรักษาโรคมะเร็งเฉพาะบุคคลอย่างมีประสิทธิภาพที่ผู้ป่วยมะเร็งทุกสิทธิ์การรักษาสามารถเข้าถึงได้
 
เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์  AI for Oncology เป็นแพลตฟอร์มค็อกนิทิฟคอมพิวติ้งบนระบบคลาวด์ข้ามาช่วยในหน่วยการวางแผนรักษาโรคมะเร็ง หรือ Tumor Board ซึ่งเป็นการประชุมของคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสหสาขาวิชาชีพของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เพื่อให้แพทย์ได้รับข้อมูลเชิงลึกที่จะช่วยในการวินิจฉัยและเสนอทางเลือกการรักษาผู้ป่วยมะเร็งให้เหมาะสมและดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายโดยอิงตามข้อมูลหลักฐานต่างๆ ซึ่งจะทำให้แพทย์สามารถตรวจวินิจฉัย ให้การรักษา และพัฒนาคุณภาพการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งให้ดีมากยิ่งขึ้น และช่วยให้นักวิจัยสามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกที่ทันสมัยตามมาตรฐานสากล และการพัฒนาต่อยอดการทำวิจัยในอนาคต เพื่อประโยชน์การรักษาโรคมะเร็งของประเทศไทย
 
 
สำหรับผู้ป่วยมะเร็งใหม่
ที่ต้องการเข้ารับบริการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์
ปรึกษาเพื่อวางแผนการเข้ารับการรักษามะเร็งแบบ NEW NORMAL ผ่านระบบ Teleconsultation for Oncology ในเมนู LINE Official Account โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เพื่อคัดกรองประวัติและอาการกับแพทย์ก่อนนัดหมายเข้ารับบริการต่อไปเพื่อประหยัดเวลาและลดการเดินทางมาโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น
 
 
 
 
ศูนย์มะเร็ง โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ 
เชี่ยวชาญด้านการตรวจและรักษาโรคมะเร็ง ควบคู่กับการศึกษาวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมการแพทย์ที่ก้าวหน้า
 
ผู้ป่วยมะเร็งทุกรายจะได้รับการประเมินผลการตรวจวินิจฉัยและวางแผนการรักษาโดยคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา เพื่อร่วมกันพิจารณาหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมและดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย
 
เทคโนโลยีหุ่นยนต์ผสมยาเคมีบำบัด สั่งการและควบคุม ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ภายใต้สภาวะปลอดเชื้อ พร้อมระบบตรวจสอบความถูกต้องของส่วนผสมยาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพความแม่นยำให้สูงขึ้น และได้มาตรฐานการเตรียมยาระดับสากล

 

 

Contact

Phone:

อายุรกรรมมะเร็ง
0 2576 6229

เคมีบำบัด
0 25766196, 98

 

LINE:

เพิ่มเพื่อน

LINE bot “ปรึกษาแพทย์โรคมะเร็ง

 

Service Hours

จันทร์ - ศุกร์
เวลา 08.00 - 16.00 น.

 

Location

ศูนย์มะเร็ง โรงพยาบาลจุฬาภรณ์

ชั้น 3 โซน B
ศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยาจุฬาภรณ์ 
เลขที่ 906 ถนนกำแพงเพชร6 แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210

Contact

Phone:

0 2576 6229-30

LINE:

LINE bot “ปรึกษาแพทย์โรคมะเร็ง

 

Service Hours

จันทร์ - ศุกร์
เวลา 08.00 - 16.00 น.

 

Location

ศูนย์มะเร็ง โรงพยาบาลจุฬาภรณ์

ชั้น 3 โซน B ศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยาจุฬาภรณ์ 
เลขที่ 906 ถนนกำแพงเพชร6 แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210